โดนัลด์ ทรัมป์ ร่อนจดหมายยืนยันเก็บภาษีนำเข้าไทย 36 % เริ่ม 1 ส.ค.นี้ หากไทยขึ้นภาษีตอบโต้กลับ ขู่เจอขึ้นภาษีสูงกว่าของเดิม
7 ก.ค. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โพสต์ข้อความลงบน Truth Social เผยจดหมายชุดแรกที่ส่งถึง 14 ประเทศ โดยมีไทยเป็นหนึ่งในนั้นด้วย ถึงนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รักษาการนายกรัฐมนตรี การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐอเมริกาในอัตราใหม่
เนื้อหาในจดหมายระบุว่า สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยทุกประเภท แยกจากภาษีตามหมวดหมู่สินค้าเดิม โดยให้เหตุผลว่า ไทยยังคงมีมาตรการกีดกันทางการค้าและนโยบายกำแพงภาษีที่ส่งผลให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยมาโดยตลอด ซึ่งสหรัฐฯ เห็นว่าความสัมพันธ์ทางการค้าในอดีตไม่เป็นไปอย่างสมดุลและต่างตอบแทน
ทรัมป์ระบุว่า แม้อัตราภาษี 36% จะยังต่ำกว่าระดับที่จำเป็นเพื่อชดเชยความไม่สมดุลทางการค้า แต่ถือเป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาที่สะสมมายาวนาน พร้อมเชิญชวนให้ไทยหรือบริษัทไทยพิจารณาย้ายฐานการผลิตมาตั้งในสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเก็บภาษี และยืนยันจะให้ความสะดวกด้านการอนุมัติทุกขั้นตอนภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์
นอกจากนี้ หากไทยตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ฝ่ายสหรัฐฯ จะเพิ่มอัตราภาษีดังกล่าวเข้าไปใน 36% ที่กำหนดไว้แล้วด้วย
ท้ายจดหมาย ทรัมป์ย้ำว่าสหรัฐฯ ยินดีเปิดโอกาสให้ไทยทบทวนมาตรการการค้าภายใน เพื่อเปิดตลาดและลดกำแพงภาษี หากไทยมีความพร้อมจะเจรจาปรับเงื่อนไขใด ๆ ก็อาจนำไปสู่การพิจารณาปรับลดอัตราภาษีนำเข้าได้ตามความเหมาะสม โดยสหรัฐฯ ยืนยันว่าจะรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าในฐานะพันธมิตรระยะยาวต่อไป
ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา หลังจากสหรัฐฯ ประกาศจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 36% เริ่ม 1 สิงหาคมนี้
โดยเมื่อค่ำวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ฝ่ายไทยได้ยื่นข้อเสนอทางการค้าฉบับปรับปรุงใหม่ต่อสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าทวิภาคีและลดการเกินดุลการค้าของไทยต่อสหรัฐฯ ลงให้ได้ 70% ภายใน 5 ปี พร้อมตั้งเป้าสร้างสมดุลทางการค้าได้ภายใน 7-8 ปี ซึ่งถือว่าเร็วกว่ากรอบเดิมที่เคยเสนอไว้ว่าจะใช้เวลา 10 ปี
สาระสำคัญของข้อเสนอใหม่นี้ เน้นการเปิดตลาดให้สินค้าการเกษตรและอุตสาหกรรมจากสหรัฐฯ โดยเลือกกลุ่มสินค้าที่ไทยยังขาดแคลนหรือผลิตเองไม่ได้ เพื่อลดผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการในประเทศ นอกจากนี้ ไทยยังพร้อมเพิ่มการจัดซื้อพลังงานและเครื่องบินจากบริษัทสหรัฐฯ ควบคู่กับการลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวทางการค้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ฝ่ายไทยหวังว่าข้อเสนอใหม่นี้จะช่วยโน้มน้าวให้สหรัฐฯ ทบทวนอัตราภาษีนำเข้า และเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าในระยะยาวภายใต้กรอบที่สมดุลและเป็นธรรมยิ่งขึ้น
รัฐบาลไทยจึงเตรียมแผนรองรับทั้งกรณีที่สหรัฐฯ เก็บภาษี 36% หรือต่ำกว่า และพร้อมเยียวยาผู้ประกอบการหากได้รับผลกระทบ ส่วนกรณี “ทรัมป์” ประกาศขึ้นภาษีอีก 10% สำหรับประเทศกลุ่ม BRICS ที่ไทยเพิ่งไปเข้าประชุมในฐานะประเทศหุ้นส่วนนั้น นายพิชัย กล่าวว่า เป็นการไปในฐานะเรียนรู้และสังเกตการณ์ เพราะวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก หากใช้วิธีคิดแบบเดิมคงไม่ได้ และไทยต้องอยู่ให้ได้กับทุกฝ่าย
นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่า สถานการณ์ล่าสุดที่สหรัฐอเมริกาตัดสินใจเลื่อนกำหนดการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยออกไปจากเดิมวันที่ 9 กรกฎาคม เป็นวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ถูกมองว่าเป็นสัญญาณเชิงบวกที่เปิดช่องให้ไทยมีเวลาต่อรองและจัดการภายในเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขจากฝั่งสหรัฐฯ ยังคงเข้มข้น โดยมีแนวโน้มที่สหรัฐฯ จะจัดกลุ่มประเทศคู่ค้าออกเป็นหลายระดับ ซึ่งไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ต้องปรับโครงสร้างเงื่อนไขการค้าใหม่ ขณะที่ยังเปิดโอกาสให้มีการเจรจาต่อได้อยู่
สาเหตุสำคัญที่ไทยยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ มาจากข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งการที่ไทยไม่ใช่คู่ค้าลำดับต้นของสหรัฐฯ ทำให้ไม่ได้รับความสำคัญสูงสุดในการจัดคิวเจรจา นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ อาจนำโมเดลการเจรจาแบบประเทศอื่น ๆ มาใช้กดดันให้ไทยต้องเปิดตลาดนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมบางประเภท ซึ่งการลดภาษีนำเข้าเหล่านี้ยังต้องผ่านการหารือและความเห็นชอบภายในประเทศอีกหลายขั้นตอน
อีกหนึ่งปัจจัยกดดันคือความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ ที่อาจทำให้สหรัฐฯ ไม่มั่นใจในเสถียรภาพและความเด็ดขาดของกระบวนการตัดสินใจ ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ยังคงใช้มาตรการด้านเทคโนโลยีเข้ามาประกอบ เช่น การจำกัดการส่งออกชิป AI ขั้นสูงไปยังไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสกัดเส้นทางที่อาจทำให้เทคโนโลยีสำคัญรั่วไหลไปยังคู่แข่งสำคัญอย่างจีน ซึ่งประเด็นนี้จะกระทบต่อโอกาสพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของไทยในระยะยาวด้วย
นอกจากการเลื่อนเส้นตายแล้ว จดหมายจากฝั่งสหรัฐฯ ยังมีนัยสำคัญที่ถูกมองว่าเป็นกลยุทธ์กดดันให้ไทยยื่นข้อเสนอทางการค้าที่ดีกว่าเดิม โดยระบุชัดว่าหากไม่สามารถตกลงได้ ไทยจะถูกจัดเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 36% สำหรับสินค้าทุกชนิด ซึ่งจะกระทบคำสั่งซื้อจากตลาดสหรัฐฯ ที่ถือเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับต้น ๆ ของไทย และอาจลามไปถึงภาคการผลิตและการลงทุนจากต่างชาติ
แรงกดดันนี้ทำให้ไทยต้องเผชิญกับโจทย์ใหญ่ นั่นคือการเลือกระหว่างการปกป้องภาคส่งออกที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในภาพรวม กับการยอมเปิดตลาดให้สินค้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะในภาคเกษตรซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวสูง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับแรงงานจำนวนมากและเป็นฐานเสียงสำคัญในทางการเมือง อีกทั้งยังมีประเด็นความสัมพันธ์กับจีนเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องสินค้าที่มีการสวมสิทธิ์ถ่ายโอนจากประเทศที่สาม
บทวิเคราะห์นี้ชี้ว่า สิ่งที่ไทยควรเร่งทำ คือทำความเข้าใจเป้าหมายของสหรัฐฯ อย่างรอบด้าน ประเมินผลกระทบแต่ละทางเลือกให้ชัดเจน โดยเฉพาะการเปิดเสรีทางการค้าบางส่วนอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมจัดมาตรการเยียวยากลุ่มอ่อนไหว สร้างขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศ ดึงดูดการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น และที่สำคัญ คือการสร้างกลไกการตัดสินใจที่มีเอกภาพและสื่อสารได้ชัดในเวทีการเจรจา นอกจากนี้ การกระจายตลาดส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอื่น ๆ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ก็เป็นสิ่งจำเป็นในระยะยาว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อแรงกดดันทางการค้าในอนาคต
สำหรับนักลงทุนในตลาดฟอเร็กซ์ ปัจจัยนี้ยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่อาจสร้างแรงเหวี่ยงต่อทิศทางค่าเงินบาทในช่วงสัปดาห์ต่อจากนี้ การติดตามสัญญาณเจรจาอย่างใกล้ชิดจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
ลาว 40% (จากเดิม 48%)
เมียนมา 40% (จากเดิม 44%)
กัมพูชา 36 % (จากเดิม 49%)
บังกลาเทศ 35% (จากเดิม 37%
เซอร์เบียร์ 35% (จากเดิม 37%)
อินโดนีเซีย 32% (คงเดิม)
บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา 30% (จากเดิม 35%)
แอฟริกาใต้ 30 % (คงเดิม)
ญี่ปุ่น 25 % (ากเดิม 24 %)
คาซัคสถาน 25 % (จากเดิม 37%)
มาเลเซีย 25 % (จากเดิม 24%)
เกาหลีใต้ 25 % (คงเดิม)
ตูนีเซีย 25 % (จากเดิม 28%)
หมายเหตุ : ไทยเสี่ยงโดนเพิ่มขึ้นอีก 10% (เป็น 46%) เนื่องจากเพิ่งเข้าร่วมประชุมในฐานะประเทศหุ้นส่วนในกลุ่ม BRICS ที่ทรัมป์เล็งขึ้นภาษีเพิ่มเติม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา
คำเตือน: เอกสารนี้จัดทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น และไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นคำแนะนำทางการเงิน การลงทุน หรือคำแนะนำอื่นใดที่ควรอ้างอิง (และไม่ควรพิจารณาว่าเป็นคำแนะนำ) ความคิดเห็นใด ๆ ในเอกสารนี้ไม่ถือเป็นคำแนะนำของ EBC หรือผู้เขียนว่ากลยุทธ์การลงทุน หลักทรัพย์ ธุรกรรม หรือการลงทุนใด ๆ เหมาะสมกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ
GBP/JPY พุ่งขึ้นเหนือ 199.00 เนื่องจากเงินเยนอ่อนค่าลงจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ขณะที่ความเสี่ยงทางการเงินของอังกฤษอาจจำกัดโมเมนตัมขาขึ้นของเงินปอนด์
2025-07-08ธนาคารกลางของออสเตรเลียสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 3.85% ซึ่งส่งผลกระทบต่อ AUD และสะท้อนถึงความระมัดระวังในเรื่องเงินเฟ้อและความเสี่ยงด้านการค้า
2025-07-08ค่าเงินปอนด์แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2021 หลังจากทรัมป์ประกาศภาษีศุลกากรใหม่สำหรับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอื่นๆ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม
2025-07-08